มารู้จัก GI กันดีกว่า

หากจะกล่าวถึง “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ Geographical Indications : GI อาจทำให้หลายคนสงสัยหรือไม่เข้าใจว่าคืออะไร แล้วมีความสำคัญหรือมีประโยชน์อย่างไร ซึ่ง พรบ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 ได้ให้ความหมายของ “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” ว่าหมายถึง สัญลักษณ์หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และที่สามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียง หรือมีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง 1

…หรืออาจอธิบายเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะเกิดขึ้นได้ต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะที่มีเฉพาะในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว โดยคุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะอื่น ๆ ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ โดยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยตรง (Direct Geographical Indication) กล่าวคือ เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆ โดยตรง เช่น ไชยา เพชรบูรณ์ เป็นต้น
  2. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยอ้อม (Indirect Geographical Indication) กล่าวคือ เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เพื่อบ่งบอกแหล่งภูมิศาสตร์อันเป็นแหล่งกำเนิดหรือแหล่งผลิตของสินค้า เช่น สัญลักษณ์ประจำอำเภอ หรือจังหวัด
    รูปย่าโม รูปหอไอเฟล เป็นต้น 2

โดยผู้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ (1) ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีเขตรับผิดชอบครอบคลุมบริเวณแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้านั้น (2) บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และมีถิ่นที่อยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า (3) กลุ่มผู้บริโภคหรือองค์กรผู้บริโภคสินค้าที่ใช้ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 3 ทั้งนี้ มีข้อสังเกตสำหรับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะต้องเป็นชื่อที่เป็นที่รู้จัก
ของผู้บริโภคและมีการกล่าวถึงหรือใช้กันมาแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่สามารถคิดขึ้นใหม่เพื่อนำมาขอขึ้นทะเบียนได้ และผู้มีสิทธิใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ภายใต้กฎหมาย คือ ผู้ผลิตสินค้าที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นและผู้ประกอบการค้าที่เกี่ยวกับสินค้านั้น (ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้ขึ้นทะเบียน) 4 อย่างไรก็ตาม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไม่สามารถแสดงความเป็นเจ้าของโดยคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เท่านั้นที่มีสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้น ผู้อยู่ในพื้นที่จึงต้องร่วมกันรักษาคุณภาพมาตรฐานของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่ของตน เพื่อคงไว้ซึ่งชื่อเสียงและอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น

จากข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 7 ปี มีสินค้าที่ได้จดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI : Geographical Indications) จำนวน 35 รายการ 5 แบ่งเป็นสินค้าไทย 29 รายการ สินค้าต่างประเทศ 6 รายการ ตัวอย่างเช่น กาแฟดอยตุง หมูย่างเมืองตรัง สับปะรดศรีราชา ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ไข่เค็มไชยา ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง เครื่องจักรสานพนัสนิคม แชมเปญ สก็อตซ์ วิสกี้ (Scotch Whisky) เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรหรือ
ผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญ และคุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่บ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่หรือความแตกต่างจากสินค้าแบบเดียวกันที่มาจากแหล่งอื่น หรือความจำเป็นที่ต้องจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวมถึงการจดทะเบียนเป็นผู้ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐยังขาดการประชาสัมพันธ์และการรณรงค์อย่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญ มีการค้นหา และเร่งจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่มีในพื้นที่ของตน เพื่อประโยชน์ต่อการรักษาเอกลักษณ์ พัฒนาและคงไว้ซึ่งคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงป้องกันการลอกเลียนแบบจากคู่แข่งทางการค้าในพื้นที่อื่น และขาดการประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการรับรู้ การชี้ให้เห็นความสำคัญ และสร้างความนิยมสินค้า GI ต่อผู้บริโภค ซึ่งเราทุกคน ทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วนควรมีบทบาท ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับการดำเนินการดังกล่าว โดยไม่ผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งในบทความฉบับต่อไปจะได้บอกเล่าถึงประโยชน์ของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่มีต่อผู้ประกอบการ ท้องถิ่น และผู้บริโภคให้ผู้อ่านได้รับทราบกันนะคะ

1 กรมทรัพย์สินทางปัญญา. พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546.
http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_docman&task=cat_view&gid=233&Itemid=470
ค้นหาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554

2 กรมทรัพย์สินทางปัญญา. คู่มือการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์.
http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_content&task=view&id=331&Itemid=251
ค้นหาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554

3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา. คู่มือการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์.
http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_content&task=view&id=331&Itemid=251
ค้นหาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554

4 กรมทรัพย์สินทางปัญญา. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_content&task=section&id=24&Itemid=201
ค้นหาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554

5 กรมทรัพย์สินทางปัญญา. ประกาศขึ้นทะเบียน.
http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_docman&Itemid=372
ค้นหาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554


แสงอรุณ ยู่ไล้
ส่วนวางแผนรายภูมิภาค
สำนักแผนและยุทธศาสตร์ สสว.